วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

1.  กำเนิดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
     
     มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  มีการตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นหมู่เหล่าตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว  หน่วยเล็กที่สุดของสังคมคือครอบครัว  ถัดขึ้นมาเป็นหมู่บ้าน  ตำบล  ฯลฯ  จนในที่สุดเป็นเมือง  เป็นประเทศ  มนุษย์แต่ละหมู่เหล่ามีการติดต่อพบปะกัน  เพื่อแลกเปลี่ยนอาหาร  สิ่งของเครื่องใช้  ยารักษาโรค  ฯลฯ  ที่ชุมของตนไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ  จนเกิดเป็นการค้าขายระหว่างหมู่บ้าน  ระหว่างตำบล  เมือง  และประเทศขึ้น  การติดต่อเช่นนี้ ท ำให้เกิดการส่งและรับข้อมูลข่าวสารถึงกัน  แรก ๆ ก็เป็นการบอกกันปากต่อปาก  ต่อมาก็มีการสื่อสารกันด้วยตัวอักษรที่จารึกบนวัสดุต่าง ๆ ซึ่งกลายมาเป็นการส่งจดหมายถึงกัน ความต้องการสื่อสารกันด้วยวิธีการที่หลากหลายขึ้น  และมีความรวดเร็วมากขึ้น  ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีโทรคมนาคม  ซึ่งอาศัยหลักวิชาทาง  วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนคำพูด  ข้อความหรือภาพเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปตามสาย  หรือเปลี่ยนเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  (เรียกว่า  คลื่นวิทยุ)  กระจายไปในอากาศ  เมื่อถึงปลายทาง   สัญญาณหรือคลื่นที่ส่งไปนั้น  ก็จะถูกคืนสภาพให้กลับเป็นเป็นคำพูดข้อความหรือภาพเหมือนกับสิ่งที่ส่งออกไปจากต้นทางพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคมนี้  ทำให้คนที่อยู่คนละซีกโลกกันสามารถรับรู้ข่าวสารของกันและกันได้ภายในชั่วพริบตา  เพราะอัตราเร็วของการเดินทางของสัญญาณไฟฟ้าตามสายหรือของคลื่นวิทยุนั้น  อยู่ในระดับเดียวกับความเร็วของแสง  เช่น  เหตุร้ายจากการก่อวินาศกรรมโดยใช้เครื่องบินโดยสารที่ถูกจี้บังคับมาชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่นครนิวยอร์ค  เมื่อวันที่  11 กันยายน  พ.ศ.2544  นั้น  คนทั้งโลกได้เห็นเหตุการณ์สด ๆ ผ่านเครือข่ายข่าวโทรทัศน์ของซีเอ็นเอ็น
     เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาประมาณ  20  ปีที่ผ่านมานี่เอง  เป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากการรวม  2  เทคโนโลยีเข้าด้วยกัน  คือ  เทคโนโลยีโทรคมนาคม  กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  คำว่า  สารสนเทศ  หมายถึง  ตัวเนื้อหาของข้อมูลข่าวสาร เราใช้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่รวบรวม  จัดเก็บ  ปรับเปลี่ยนรูปแบบของสารสนเทศ  และใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งพัฒนามาจากเครือข่ายโทรทัศน์และเครือข่ายวิทยุมาสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้น  เป็นการนำเอาความสามารถของคอมพิวเตอร์  (คำนวณ  เปรียบเทียบ  และตรวจสอบ  ได้รวดเร็ว  ถูกต้องแม่นยำ)  มารวมกับความสามารถของระบบโทรคมนาคม  (ติดต่อได้รวดเร็วและกว้างไกล)  ดังนั้น เทคโนโลยีสารนเทศ  จึงหมายถึง  เทคโนโลยีที่ใช้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาจัดการกับสารสนเทศนั่นเอง


     ภาพที่  1.1  ภาพเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ นครนิวยอร์ค ที่เครือข่าย
                         ข่าวโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นแพร่ภาพถ่ายทอดสดไปทั่วโลกทันทีที่เกิดเหตุการณ์


     ปัจจุบันนี้  มีการใช้คำว่า  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า  Information  and  Communication  Technology : ICT  กันอย่างแพร่หลายนักเรียนอาจไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ใดจึงต้องมีคำว่า  ”การสื่อสาร”  มาพ่วงท้ายอีก  ในเมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศก็มีเทคโนโลยีโทรคมนาคม  (ซึ่งก็เกิดการสื่อสารนั่นเอง)  รวมอยู่ด้วยแล้ว   เรื่องนี้มีเหตุผลเบื้องหลังคือ  ในขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานของระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลักกำลังเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางอีกด้านหนึ่ง  เทคโนโลยีการสื่อสาร  (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารไร้สาย)  ก็กำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน  และทำให้เกิดการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น  โดยไม่ต้องอาศัยระบบคอมพิวเตอร์ ตัวอย่าง  เช่น  การทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ  ได้แก่  m-Shopping  (การซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ)  m-Banking  (การสั่งจ่ายเงินหรือโอนเงินจากธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ)  เป็นต้น นอกจากนี้บริการสอบถามและแจ้งข้อมูลทางโทรศัพท์ซึ่งใช้ได้ตลอด  24  ชั่วโมงทุกวัน  ที่เรียกว่าบริการ   “Call Center”  นั้น  ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพัฒนาการใหม่ด้านการสื่อสาร  ในกรณีของ  Call Center  นั้น แม้ว่าจะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ติดตั้งอยู่ทางด้านผู้ให้บริการ  แต่ทางด้านผู้รับบริการใช้เพียงโทรศัพท์เท่านั้น  ก็สามารถรับบริการได้ ซึ่งแตกต่างจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างอินเตอร์เน็ต  ที่ผู้ใช้บริการต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย  อย่างไรก็ตาม  ในอนาคตไม่ไกลนัก เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารมีแนวโน้มจะรวมเข้าด้วยกัน  ดังจะเห็นได้จากโทศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถรับส่งอีเมลได้ในขณะเดียวกัน  คอมพิวเตอร์พกพาบางรุ่นก็สามารถใช้เป็นโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ปรากฏการณ์ของการมาบรรจบกันของเทคโนโลยีทั้งสองนี้  เรียกว่า  คอนเวอร์เจนซ์ Convergence